พี่ๆ แม่ๆ สมาชิกกลุ่มทอผ้าครามบ้านโนนเรือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เรียนรู้การมัดหมี่ การย้อมสีผ้า และการทอกี่กระตุกจากภูมิปัญญาที่พ่อแม่ปู่ย่าส่งต่อกันมานานไม่ต่างจากชาวอีสานในหลายท้องถิ่นที่มีฝีมือในด้านนี้

แต่ต่างกันตรงที่ ทีนี้เป็นแหล่งผลิต “ครามเนื้อดี” ที่รู้กันในคนทอผ้าอีสานว่า เป็นเนื้อครามที่สีเข้มสวย ย้อมติดทน ทำให้ครามกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงอีกอย่างของที่นี่ มีลูกค้าจากหลายๆ จังหวัดในภาคอีสาน และบางจังหวัดของภาคเหนือมาซื้อไปเป็นวัตถุดิบหลักในการย้อมผ้าปีละ กว่า 3 ตัน

มาทำความรู้จักครามเพิ่มเติมกันเสียหน่อย…
คราม ทำมาจากการนำ “ต้นคราม” ซึ่งเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ออกลูกเป็นฝัก โดยเมื่อต้นครามโตเต็มที่แล้ว ผู้ผลิตครามจะตัดต้นและใบครามมาหมักในน้ำด่าง เรียกกันว่า ‘เลี้ยงคราม’ จนได้ที่ จากนั้นก็ปล่อยให้ตกตะกอนเหลือเพียง ‘เนื้อคราม’ ที่สามารถนำมาย้อมฝ้ายเผ้าได้

ผ้าที่ย้อมด้วยครามในช่วงแรกจะให้สีเขียวเข้ม แต่เมื่อผ้าที่ย้อมเนื้อครามโดนอากาศ จะกลายเป็น อินดิโก-บลู ที่ให้สีน้ำเงินเข้ม หรือที่เรียกกันว่า สีคราม หรือสีนิลตามที่บางท้องถิ่นเรียกขาน ซึ่งนอกจากในบ้านเรา ยังมีอีกหลายประเทศที่มีวัฒนธรรมย้อมผ้าด้วยคราม ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย จีน เวียดนาม และประเทศญี่ปุ่น

“ครามบ้านเฮาขายได้ราคาดีกว่าที่อื่น ลูกค้าเพิ่นบอกว่า เนื้อครามบ้านเฮาสีเข้ม ย้อมติดดี สีเข้มชัด แล้วเนื้อครามบ้านเฮาก็หอมกลิ่นครามชัดเจน ครามบ้านเฮาจึงขายได้ราคาดี ปีหนึ่งขายได้หลายตังค์อยู่นะ”

นอกจากขายแล้ว ผ้าทอที่นี่ทุกผืนก็ใช้ครามจากที่บ้านโนนเรือนี่แหละย้อม นี่จึงเป็นที่มาของความงามบนผืนผ้าที่มีเอกลักษณ์อย่างที่ชาวโนนเรือภูมิใจ